ในบางครั้งโรคภัยต่างๆ ของร่างกายอาจเกิดขึ้นแบบเงียบๆ หลายโรคที่ไม่แสดงอาการผิดปกติแต่อย่างใดในระยะแรก แต่กลับทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปจนอาจทำให้เสียชีวิตได้ในระยะเวลาสั้นๆ โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็ง เบาหวาน โรคหัวใจ โรคไตหรือโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น แต่สำหรับทุกๆ โรค หากตรวจพบก่อนในระยะเริ่มแรกก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้
การตรวจสุขภาพประจำปี จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี – 60 ปีขึ้นไป เพราะหากตรวจพบความผิดปกติของร่างกายได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะช่วยให้สามารถวางแผนรักษาได้อย่างเหมาะสมและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมากเท่ากับอาการป่วยหนักๆ หรือรุนแรง แต่ก่อนที่จะไปตรวจสุขภาพก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมให้ถูกวิธี เพื่อให้การตรวจสุขภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำมากที่สุด
8 ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพประจำปี
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉพาะก่อนวันที่จะไปตรวจสุขภาพประจำปี หากเป็นไปได้ควรนอนหลับให้ครบ7 – 8 ชั่วโมง เนื่องจากระยะเวลาการนอนหลับนั้นมีผลต่อคุณภาพการตรวจ รวมถึงทำให้ค่าความดันเลือดสูงกว่าปกติหรือผิดเพี้ยนจากค่าที่ถูกต้อง
- อดอาหารก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี โดยงดทั้งเครื่องดื่มและอาหารอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงโดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง ถ้าหากรู้สึกคอแห้งมากและจำเป็นต้องดื่มน้ำจริงๆ ก็สามารถจิบน้ำเปล่าได้เพียงเล็กน้อย ซึ่งระยะเวลาการงดอาหาร สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
- ผู้ที่ต้องตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ให้งดอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
- ผู้ที่ต้องตรวจไขมันในหลอดเลือด ให้งดอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 12 ชั่วโมง
- ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ในระยะเวลา 24 ชั่วโมงก่อนไปตรวจสุขภาพประจำปี เพราะแอลกอฮอล์ที่อาจหลงเหลืออยู่ในร่างกายนั้นจะส่งผลกระทบต่อการตรวจได้ หากมีการดื่มแอลกอฮอล์ควรแจ้งให้พยาบาลหรือแพทย์ทราบ
- สำหรับผู้ที่มีประจำเดือน ควรงดตรวจสุขภาพประจำปีช่วงระหว่างก่อนและหลังมีประจำเดือน 7 วัน
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรเตรียมเอกสารที่เกี่ยวกับประวัติของโรคหรือประวัติสุขภาพอื่น ๆ มาให้แพทย์วินิจฉัยเพิ่มเติมด้วย
- วันที่เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี ควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สวมใส่สบายและสวมใส่เสื้อผ้าที่สะดวกต่อการเจาะเลือดที่ข้อพับแขน รวมถึงเพื่อให้เกิดความสะดวกในการตรวจร่างกายหรือการเปลี่ยนเสื้อผ้าขณะทำการตรวจ
- หลีกเลี่ยงทานอาหารหวาน เนื่องจากปริมาณน้ำตาลจากอาหารเหล่านี้จะส่งผลต่อปริมาณน้ำตาลในปัสสาวะที่สูงกว่าปกติ
- งดสูบบุหรี่หรือเสพกัญชาก่อนตรวจสุขภาพ
การเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับผู้หญิง
- งดใส่เครื่องประดับต่างๆ ที่เป็นโลหะหรือถอดออกก่อนเข้ารับการตรวจ
- งดใส่ชุดชั้นในที่มีโครงเหล็ก
- งดตรวจปัสสาวะหากมีประจำเดือนหรือควรรอให้พ้นช่วงมีประจำเดือนก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี
- หากต้องตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการเอกซเรย์ (Mammogram) ควรหลีกเลี่ยงการตรวจในช่วงมีประจำเดือน เพราะเต้านมจะมีความคัดตึงมากกว่าปกติ
- หากสงสัยว่าตั้งครรภ์ ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่เพื่องดการตรวจเอกซเรย์
การเก็บตัวอย่างเชื้อเพื่อส่งตรวจ
ก่อนและหลังการเก็บตัวอย่างควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง และปฏิบัติตามขั้นตอน ดังนี้
- ขั้นตอนการเก็บปัสสาวะ
- ทำความสะอาดบริเวณภายนอกและเก็บเฉพาะช่วงกลางระหว่างปัสสาวะประมาณ 20-30 ml.
- ส่งให้เจ้าหน้าที่ภายใน 1 ชั่วโมง หรือเก็บไว้ไม่เกิน 18 ชั่วโมง ในอุณหภูมิ 0-4 องศา
- ขั้นตอนการเก็บอุจจาระ
- ตรวจสอบความเรียบร้อยของภาชนะที่จัดเก็บ
- ปัสสาวะทิ้งไปก่อนและถ่ายอุจจาระลงในถุงพลาสติกสะอาด จากนั้นใช้ที่ป้ายพลาสติกในกระปุกเก็บอุจจาระประมาณ 4-5 กรัมใส่ในกระปุกและปิดฝามิดชิด
- ส่งตรวจทันทีหรือภายใน 1 ชั่วโมง
การตรวจสุขภาพประจำปี จะทำให้ทราบถึงสภาพความสมบูรณ์ของร่างกายและรู้ทันโรคภัยที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้และเข้าใจสภาพร่างกายของตนเองมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้ดูแลสุขภาพในชีวิตประจำวันของตนเองได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น ไม่ว่าร่างกายจะแสดงอาการผิดปกติหรือไม่ อย่างน้อยควรเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อหาแนวทางป้องกันและรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้องจากแพทย์ นอกจากนี้ ยังควรทำประกันสุขภาพไว้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายจากการตรวจสุขภาพประจำปี รวมถึงการคุ้มครองในกรณีตรวจพบโรคร้ายแรง โดยสามารถเปรียบเทียบแผนประกันสุขภาพออนไลน์โดยไม่ต้องติดต่อตัวแทนขายได้ที่เว็บไซต์ Rabbit Care